Select Page

ความเสี่ยงด้านความยั่งยืน

ความเสี่ยงด้านความยั่งยืน

1. ความเสี่ยงด้านการยอมรับจากชุมชน

บริษัทมุ่งดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม การยอมรับจากชุมชนให้บริษัทดำเนินธุรกิจเป็นความเสี่ยงที่บริษัทต้องบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและให้เกิดประสิทธิผล หากบริษัทไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชนในสังคมอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ บริษัทจึงกำหนดให้ทุกปีต้องจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการประเมินความเสี่ยงจากอันตรายในด้านอื่นๆ ที่จำเป็น โดยผลประเมินอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งนี้ ในปี 2560 บริษัท เอจีอี เทอร์มินอล จำกัด (บริษัทย่อย)ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001-2015 ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับชุมชน ถึงมาตรฐานการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมของบริษัท

2. ความเสี่ยงด้านการจัดหาวัตถุดิบ

บริษัทมีพันธมิตรทางการค้าสำหรับการจัดหาวัตถุดิบ (ถ่านหิน) กับเหมืองถ่านหินในหลายประเทศ เนื่องจากแต่ละเหมืองมีคุณสมบัติของถ่านหินที่แตกต่างกันตามความต้องลูกค้า เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาเรื่องการจัดหาวัตถุดิบ และจัดส่งสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยบริษัทคำนึงถึงความสำคัญในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ บริษัทจึงเลือกดำเนินธุรกิจกับเหมืองที่มีการบริหารจัดการด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี

3. ความเสี่ยงต่อการได้รับใบอนุญาต

การบริหารจัดการองค์กรเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก การดำเนินงานทุกกิจกรรมของบริษัทถูกต้องตามกฎหมาย การได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ และใบอนุญาตในกิจกรรมต่างๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องคอยดูแลตรวจสอบวันครบกำหนด และความถูกต้องของเอกสารตลอดเวลา ไม่สามารถปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ผิดพลาดขึ้นได้ โดยผู้ที่ดูแลต้องตั้งแจ้งเตือนไว้ล่วงหน้า 30 วัน เพื่อดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตต่างๆ ของบริษัทให้เสร็จก่อนวันครบกำหนด

4. ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา

บริษัทจะบริหารความเสี่ยงด้วยวิธี Natural Hedge โดยนำเงินดอลลาร์ สรอ.ที่ได้รับจากการส่งออกมาชำระค่าซื้อถ่านหิน ซึ่งเป็นการชำระเงินโดยใช้เงินสกุลเงินเดียวกัน และสำหรับกรณีการสั่งซื้อถ่านหินเพื่อนำเข้ามาจำหน่ายให้ลูกค้าในประเทศซึ่งขายเป็นสกุลเงินบาท บริษัทจะบริหารความเสี่ยงด้วยวิธีการทำสัญญาซื้อเงินดอลลาร์ สรอ.ล่วงหน้า (Forward Contract) โดยสัดส่วนการซื้อเงินดอลลาร์ สรอ. จะปรับเปลี่ยนไปตามการประเมินสถานการณ์และแนวโน้มทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงเวลานั้นๆ เพื่อลดผลกระทบด้านลบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และป้องกันไม่ให้กระทบต่อต้นทุนซื้อถ่านหินของบริษัท

5. ความเสี่ยงด้านต้นทุนสินค้า

บริษัทมีการวางแผนการซื้อถ่านหินล่วงหน้าเพื่อให้ครอบคลุมปริมาณขายที่ได้คาดการณ์ไว้ตลอดทั้งปี โดยมีการทำสัญญาซื้อขายถ่านหินกับพันธมิตรทางการค้า ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายทั้งขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่จากหลายประเทศ รวมจำนวนกว่า 20 ราย ทั้งในรูปแบบของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และสัญญาซื้อขายทันที (Spot) ซึ่งทำให้บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมต้นทุนสินค้า ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ และตรงตามปริมาณที่ได้ตกลงกันไว้

ความเสี่ยงที่เกิดใหม่ (Emerging Risks)

ความเสี่ยงที่เกิดใหม่เป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีผลกระทบสูงต่อห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทฯ ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ จึงตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกิดใหม่อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบในอนาคต โดยดำเนินการประเมินความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดใหม่ และเตรียมมาตรการในการรองรับความเปลี่ยนแปลง โดยประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ความเสี่ยงต่อบริษัท

เหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจ ของบริษัทฯ เช่น ปริมาณน้ำฝนที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลพื้นที่คลังสินค้า และท่าเรือ ของบริษัทฯซึ่งอยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสักมีความเสี่ยง อุทกภัยได้ อย่างเช่นที่เคยเกิด เหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ซึ่งทำให้พื้นที่บริเวณ อำเภอท่าเรือ และอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ท่าเรือ และคลังสินค้าในพื้นที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้เนื่องจากมีน้ำท่วมสูง

แนวทางบริหาร

  • การป้องกันความเสียหายจากผลกระทบต่อความสามารถในการจัดส่งสินค้า บริษัทฯ ได้จัดทำแผนการบริหารงาน ในกรณีที่ ท่าเรือและคลังสินค้าบริเวณ อำเภอนครหลวงไม่สามารถใช้งานได้ โดยมีคลังสินค้าสำรอง ซึ่งเป็นคลังสินค้าของบริษัทฯที่อยู่นอกพื้นที่ และได้จัดหาท่าเรือซึ่งสามารถขนถ่ายถ่านหินได้
  • การป้องกันความเสียหายทางทรัพย์สิน โครงสร้างของคลังสินค้านครหลวงได้ถูกออกแบบมาให้สามารถ ป้องกันน้ำท่วมได้ โดยโครงสร้างซึ่งมีคันดินสูง 6 เมตรล้อมรอมพื้นที่ทั้งหมด และได้จัดทำประกันภัยจากอุทกภัยทุกปี โดยในปี 2554 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ น้ำ ท่วมใหญ่ น้ำท่วมบริเวณรอบคลังสินค้า แต่ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่คลังสินค้าได้จากโครงสร้างของคลังสินค้าที่มีคันดินล้อมรอบ
  • การลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน และ ดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทฯได้ลงทุนโครงการ Solar roof เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในคลังสินค้า และดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงาน ลดการใช้น้ำและ ไฟฟ้าทั้งในสำนักงานใหญ่และ คลังสินค้า เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทที่ 2